สวัสดีครับ บทความนี้ เขียนจากประสบการณ์ของตัวเองในการเลือกซื้อประกันสุขภาพเด็ก โดยผมเลือกซื้อให้กับลูกสาวตั้งแต่อายุ 1 เดือนนะครับ มีอะไรบ้าง ? ที่ผมใช้ในการตัดสินใจเลือกแผนประกัน ครอบครัวไหนกำลังมองหาประกันสุขภาพให้ลูก ลองติดตามบล็อกนี้ได้นะครับ
ประกันสุขภาพเดี่ยว vs. ประกันสุขภาพพ่วงประกันชีวิต
เรื่องแรกเลยที่หลาย ๆ คนมักจะเข้าใจผิดว่าการซื้อประกันสุขภาพเดี่ยว จากบริษัทประกันวินาศภัย มีโอกาสถูกบอกเลิกหรือไม่ต่ออายุได้ ให้ไปซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิตดีกว่า!! ตรงนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนะครับ เนื่องจากว่า
- สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพที่ขายพ่วงประกันชีวิต เป็นสัญญาแบบปีต่อปี
- สัญญาเพิ่มเติมที่แนบกรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นสัญญาประกันวินาศภัย
เมื่อเป็นสัญญาแบบปีต่อปีเหมือนกัน กรมธรรม์ของเราก็มีโอกาสถูกบอกเลิกหรือไม่ต่ออายุได้เหมือน ๆ กันครับ อ้างอิงมาจาก FAQ ของ คปภ. เรื่อง “บริษัทบอกยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ เนื่องจากเหตุผลอัตราการเคลมสูง”
มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่
มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ หรือ New Health Standard เป็นหลักเกณฑ์กำหนดมาตรฐานของแผนประกันภัยให้เป็นแบบเดียวกัน ที่มีการบังคับใช้จริงอย่างเต็มรูปแบบไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดย คปภ. ได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้ว่า บริษัทประกันภัยจะไม่ต่อสัญญากับผู้เอาประกันได้ก็ต่อเมื่อ
- ผู้เอาประกัน แจ้งข้อมูลเท็จหรือปกปิด บิดเบือนข้อมูลการรักษาพยาบาลแก่บริษัทประกันภัย
- ผู้เอาประกัน เรียกร้องผลประโยชน์ในส่วนการรักษาพยาบาลที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์
- ผู้เอาประกัน เรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยจากการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง
นอกจากจะตอบคำถามเรื่องการบอกยกเลิกสัญญาที่เข้าใจผิดของผู้บริโภคแล้ว มาตรฐานประกันสุขภาพแบบใหม่ นี้ยังกำหนดข้อตกลงความคุ้มครองให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ช่วยให้เราสามารถเปรียบเทียบความคุ้มครองในแต่ละแผนได้ง่ายอีกด้วยครับ
ประกันสุขภาพเด็กเลือกแบบไหนดี ?
เมื่อเราเข้าใจเรื่องการบอกยกเลิกสัญญาของบริษัทประกันได้อย่างถูกต้องแล้ว การเลือกซื้อประกันสุขภาพเดี่ยวหรือประกันสุขภาพพ่วงประกันชีวิต ก็จะมีข้อแตกต่างระหว่างกันนิดหน่อย ดังนี้
- ประกันสุขภาพเดี่ยว ซื้อกับบริษัทประกันวินาศภัย จ่ายค่าเบี้ยปีต่อปี
- ประกันสุขภาพพ่วงประกันชีวิต ต้องมีกรมธรรม์ประกันชีวิตก่อน
- สัญญาประกันชีวิตต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตระยะยาว
- สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพสัญญา จ่ายค่าเบี้ยปีต่อปี
- ถ้าบริษัทยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ก็ยังต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตต่อไป
หากเราไม่ได้ต้องการความคุ้มครองชีวิต ก็เลือกประกันสุขภาพเดี่ยวได้ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกซื้อประกันประเภทใด อยากให้มองไปที่ฐานะทางการเงินของบริษัทประกันเป็นหลักว่ามีความมั่นคง.
ประกันสุขภาพเด็ก เหมาจ่าย vs. แยกค่าใช้จ่าย
ประกันสุขภาพในยุคก่อนนั้นมักจะออกมาในรูปแบบ “แยกค่าใช้จ่าย” หรือ “แยกค่ารักษา” ยกตัวอย่าง เช่น ค่าห้อง 2,000 บาท ค่าผ่าตัด 60,000 บาท มีวงเงินการรักษาที่แยกออกจากกัน และมักจะไม่ได้กำหนดวงเงินรวมต่อปี
แต่ระยะหลังมานี้ “ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย” ได้รับความนิยมขึ้นมาก เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในบางรายการมีค่าใช้จ่ายที่สูง บริษัทประกันจึงออกผลิตภัณฑ์แบบเหมาจ่ายขึ้นมา โดยจะรวมวงเงินการรักษาทุกรายการเข้าด้วยกัน (อาจจะไม่รวมบางรายการ เช่น ค่าห้อง) และจะกำหนดวงเงินสูงสุดที่เราจะเคลมได้ใน 1 ปี เราลองมาดูจุดเด่นของประกันสุขภาพแต่ละประเภทกันครับ
ประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย
จุดเด่น : ประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่าย จะไม่มีการกำหนดวงเงินสูงสุดต่อปี ใน 1 ปี หากมีการเจ็บป่วยต้องรักษาตัวหลาย ๆ โรค โดยแต่ละครั้งเป็นการรักษาแบบไม่ต่อเนื่องกัน (เกิน 90 วัน) ก็จะนับวงเงินใหม่ให้ ทำให้ส่วนใหญ่แล้ว “ค่าเบี้ยจะถูก” กว่าประกันแบบเหมาจ่าย
จุดด้อย : วงเงินในการรักษาแต่ละโรคไม่สูงมาก
ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย
จุดเด่น : วงเงินค่ารักษาต่อปีสูง มีความคุ้มครองที่หลากหลายและหยืดหยุ่นกว่าประกันแบบแยกค่าใช้จ่าย
จุดด้อย : ถ้าไม่นับว่าราคาแพงเป็นจุดด้อย บริษัทประกันชอบขายแบบแยกค่าห้องออกจากค่ารักษา และให้ความคุ้มครองค่าห้องต่ำ อาจจะเพราะอยากขายค่าห้องแยกเพิ่มเติมก็เป็นไปได้ครับ
เมื่อรู้ความแตกต่างของประกันสุขภาพทั้งแบบเหมาจ่าย และแบบแยกรายการค่าใช้จ่ายแล้ว เวลาเลือกซื้อก็จะไม่ยากแล้วล่ะครับ
ประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก (Deductible)
ประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก หรือ Deductible หากอธิบายอย่างง่ายก็คือ ประกันสุขภาพ ที่ให้เรารับผิดชอบค่าใช้จ่ายก่อนจำนวนหนึ่ง แล้วประกันจะรับผิดชอบส่วนที่เหลือให้ ทำให้ค่าเบี้ยประกันถูกลง เพราะทุกครั้งที่เคลม เราจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยเสมอ
เว็บไซต์ของ Gettgo ได้เขียนอธิบายเรื่องนี้ค่อนข้างดีนะครับ ผมขอยกตัวอย่างมาอธิบายแบบย่อ ๆ ให้ ส่วนตัวเต็ม สามารถเข้าไปอ่านที่นี่ได้ครับ –> ประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก
กรณีที่นาย A เกิดเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมีค่ารักษาทั้งหมดอยู่ที่ 180,000 บาท
- หากนาย A ทำประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก 30,000 บาท นาย A จะต้องจ่ายค่ารักษาในส่วนแรกไปก่อน 30,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 150,000 บาท ทางประกันจะเป็นผู้จ่ายให้
- แต่ถ้าหากนาย A ไม่ได้ทำประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรกนี้ไว้ เท่ากับว่าจะต้องจ่ายเองเต็มจำนวน 180,000 บาท
- และถ้านาย A มีสวัสดิการของบริษัท 100,000 บาท ก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเลย
จะเห็นได้ว่าประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรกนั้น เหมาะกับคนที่มีสวัสดิการจากที่อื่น หรือถือกรมธรรม์เล่มอื่นอยู่ด้วยนั่นเอง
แล้วประกันสุขภาพเด็ก จะเลือกแบบไหนดี ?
ส่วนนี้จะเป็นประสบการณ์ของครอบครัวผมนะครับ ไม่ได้ชี้แนะ หรือ แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยนะครับ โดยปกติแล้ว ผมจะแยก การลงทุน การออม และการป้องกันความเสี่ยงออกจากกัน ผมไม่ชอบผลิตภัณฑ์แบบขายพ่วง 555 การเลือกซื้อประกันสุขภาพเด็กให้ลูก จึงเป็นการปิดความเสี่ยงให้ผม สำหรับค่ารักษาพยาบาล ที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด เท่านั้นที่ต้องการ
ในช่วงอายุ 0 – 5 ปี ประกันสุขภาพของเด็กมักจะมีราคาแพง และบางบริษัทอาจจะบังคับให้ผู้ปกครองทำประกันหลักก่อนอีกด้วย ในช่วงอายุนี้ ผมจะเลือกซื้อประกันกับบริษัทที่มั่นคงมาก ๆ โดยตั้งใจว่า 5 ปีแรกจะไม่เปลี่ยนบริษัทประกัน เพราะกรณีที่มีการเคลมเยอะ ๆ ผมอาจจะแอบคาดหวังว่าทางบริษัท จะต่อประกันในปีถัดไปให้ หรือไม่ขึ้นค่าเบี้ย ^^
หลังจากอายุ 6 ปี ปกติบริษัทประกันจะนับอายุจากปีปฎิทิน ช่วงอายุนี้ค่าเบี้ยจะปรับตัวลงค่อนข้างมาก ลองไล่ติดต่อตัวแทนหรือบริษัทประกันต่าง ๆ ได้เลยครับ จะเลือกประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรกหรือไม่ก็ได้ ตามความเหมาะสมเลยครับ หากใครมีสวัสดิการจากบริษัทครอบคลุมถึง ครอบครัวหรือลูกด้วย ก็เข้าทาง ^^
ประกันสุขภาพเด็ก เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัวในยุคปัจจุบันซะแล้ว อย่างน้อย ๆ ก็มาช่วยเราแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดได้ โดยส่วนตัวผมก็เลือกซื้อประกันสุขภาพเด็ก แบบเหมาจ่ายนี่แหล่ะครับ แต่เลือกแบบมี ความรับผิดส่วนแรก หรือ deductible นะ เพราะผมมองว่าค่า deductible ต่อการรักษา 1 ครั้งนั้น เป็นราคาที่ผมจ่ายได้
อย่างเช่น ค่าห้องของ ร.พ. 13,000 บาท/คืน ลูกผมต้อง admit 3 คืน บิลค่าห้องและค่ารักษา อาจจะออกมาที่ 100,000 บาท ผมก็จะมีภาระที่ 30,000 บาท ส่วนที่เหลือประกันก็จะจ่ายให้ ช่วยให้หมดความกังวลไปได้เยอะเลยครับ
หรือในกรณีที่ลูกผม admit 1 คืนเท่านั้น ค่าห้องและค่ารักษาอาจจะจบที่ 25,000 บาท ผมก็รับผิดชอบเพียงเท่านี้เช่นกัน ส่วนใครไม่ชอบแบบมี deductible ก็ได้ไม่ว่ากัน แต่อย่างไรก็ตามแต่ “เลือกซื้อประกันกับบริษัทที่มีความมั่นคง” นะครับ.
หวังว่าข้อมูลในบล็อกนี้จะมีประโยชน์บ้างนะครับ และถ้าหากใครมีเวลา อยากลองอ่านบทความเรื่อง เด็กอนุบาลอินเตอร์ ว่าเค้าเรียนอะไรกันบ้าง ? ก็ตามไปได้ที่ลิงค์ข้างต้นได้เลยครับ